|
ทรัพยากรป่าไม้
สังคมพืชที่พบในพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำยวม ประกอบด้วยป่า 3 ประเภท ได้แก่ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็ง (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 2548) ทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติของประเทศไทย มีข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับพื้นที่ชุ่มน้ำนี้ แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าในพื้นที่ชุ่มน้ำนี้มีพรรณไม้ชนิดอะไรบ้าง (สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม, 2542) แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาพรรณไม้ป่าเชิงปริมาณ ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่อยู่ในลุ่มน้ำสาละวินเช่นกัน ที่ศึกษาโดยสุนทรและคณะ (2547) พบว่า มีไม้ต้น 207 ชนิด 177 สกุล 17 วงศ์ จากการประเมินของผู้วิจัย คาดว่าในพื้นที่ชุ่มน้ำนี้น่าจะมีพรรณไม้อย่างน้อย 250 ชนิด เป็นพืชต่างถิ่นที่รุกราน อย่างน้อย 10 ชนิด และมีพรรณไม้หายากอย่างน้อย 1 ชนิด คือ พู่ไฟ Woodfordia fruticosa (L.) Kurz ซึ่งในประเทศไทยพบที่สบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และภูลังกา จังหวัดบึงกาฬ (De Wilde et al., 2014)
สถานภาพการอนุรักษ์ชนิดพรรณไม้ในพื้นที่ชุ่มน้ำ พบว่า มีชนิดพรรณไม้ที่ถูกคุกคาม (threatened species) 2 ชนิด เป็นชนิดพรรณไม้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชีบัญชี The IUCN Red List of Threatened Species (IUCN 2015) 2 ชนิด โดยเป็นชนิดที่ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (EN) ทั้ง 2 ชนิด ได้แก่ มะค่าโมง Afzelia xylocarpa (Kurz) Craib และสัก Tectona grandis Linn. f. อย่างไรก็ตามไม่มีชนิดพรรณไม้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชี Thailand Red Data (Santisuk, 2006) แต่อย่างใด
ทรัพยากรสัตว์ป่า
สถานภาพการอนุรักษ์สัตว์ป่าในพื้นที่ชุ่มน้ำ พบว่า มีสัตว์ป่าที่ถูกคุกคาม (threatened species) 2 ชนิด โดยเป็นสัตว์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชี Thailand Red Data (Nabhitabhata & Chan-ard, 2005) 1 ชนิด คือ เต่าเหลือง (Indotestudo elongata)
สัตว์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชีบัญชี The IUCN Red List of Threatened Species (IUCN, 2015) 2 ชนิด โดยเป็นสัตว์ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (EN) 1 ชนิด คือ เต่าเหลือง (Indotestudo elongata) และเป็นสัตว์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU) 1 ชนิด คือ งูจงอาง (Ophiophagus hannah)
ทรัพยากรปลา
จากการตรวจสอบสถานภาพของปลาที่พบในการศึกษาพบปลาที่ติดสถานภาพของ IUCN Red List of Threatened Species (2006) และสถานภาพของ Thailand Red Data: Fishes (Vidthayanon, 2005) จำนวน 8 ชนิด โดยเป็นชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ (EN-Endangered species) จำนวน 1 ชนิด ได้แก่ ปลาค้างคาวน้ำยวม Oreoglanis heteropogon Vidthayanon, Saenjundaeng & Ng, 2009 และชนิดที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ 6 ชนิด (VU-Vulnerable species) ได้แก่ ปลาหว้า Bangana behri (Fowler, 1937), ปลาหม่น Bangana devdevi, ปลาซิวใบไผ่แม่แตง Devario maetaengensis (Fang, 1997), ปลาบ้า Leptobarbus hoeveni (Bleeker, 1851), ปลาหมูฮ่องเต้ Botia rostrata Günther, 1868 และปลาดุกด้าน Clarias batrachus (Linnaeus, 1758) ชนิดที่ถูกคุกคามในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ (NT-Near Threatened) จำนวน 1 ชนิด ได้แก่ ปลาช่อนงูเห่า Channa marulius (Hamilton, 1822)
ชนิดพันธุ์ประจําถิ่น (Endemic species) พบปลาที่เป็นปลาเฉพาะถิ่นของประเทศไทย 1 ชนิด ได้แก่ ปลาค้างคาวน้ำยวม Oreoglanis heteropogon Vidthayanon, Saenjundaeng & Ng, 2009 ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ประจําถิ่นในพื้นที่ลุ่มน้ำยวม (Vidthayanon et. al., 2009) นอกจากนี้พบปลาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว จำนวน 4 ชนิด คือ ปลากดเกราะ Hypostomus plecostomus (Linnaeus, 1758), ปลาดุกรัสเซีย Clarias gariepinus (Burchell, 1822), ปลาหมอเทศ Oreochromis mossambicus (Peters, 1852) และปลานิล Oreochromis niloticus (Linnaeus, 1758) และปลาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีแนวโน้มรุกราน จำนวน 1 ชนิด คือ ปลากดเกราะ Pterygoplichthys ambrosettii (Holmberg, 1893)
ความหลากหลายของสัตว์หน้าดิน
จากการสำรวจเก็บตัวอย่างสัตว์หน้าดินในพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำยวม เดือนกรกฎาคม 2558 จำนวน 3 จุด พบสัตว์หน้าดินทั้งสิ้น 6 ชนิด จาก 2 ไฟลัม 3 ชั้น 3 อันดับ 4 วงศ์ มีปริมาณความชุกชุมของสัตว์หน้าดิน 538 ตัวต่อตารางเมตร |